เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่นำช่วยในเรื่องของความสะดวกสบายในการรักษาร่างกาย โดยประเทศญี่ปุ่นได้เผยนวัตกรรมใหม่ "ผิวหนังอ่านสุขภาพ" ที่ใช้ในการตรวจจับความผิดปกติภายในร่างกายได้ 24 ชม.
“ผิวหนังอ่านสุขภาพ” คือนวัตกรรมใหม่จากญี่ปุ่นที่มาในรูปแบบของจอแสดงผลไมโครแอลอีดีขนาด 16x24 แถว บางเพียง 1 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายพลาสเตอร์ปิดแผล ยืดหยุ่นได้ น้ำหนักเบามาก และแปะราบไปบนหลังมือจนแทบไม่รู้สึกแตกต่างจากผิวหนังปกติ ซึ่ง “ผิวหนัง” นี้สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้สวมใส่และใช้รับส่งข้อความ รวมถึงสัญลักษณ์แสดงอารมณ์ได้
ทาคาโอะ โซเมยะ อาจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียวผู้พัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้มองว่า นวัตกรรมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่อยู่ไกลออกไป ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากญาติพี่น้องอีกด้วย
“ด้วยเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ แม้แต่การเดินสายตรวจตามบ้านก็ตาม คุณจะได้แชร์ข้อมูลด้านการแพทย์กับหมอประจำบ้านโดยไม่มีติดขัด และหมอก็สามารถติดต่อกลับมาหาคนไข้ได้” โซเมยะบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี
อุปกรณ์ชิ้นนี้ใช้ติดลงบนผิวหนังบริเวณหลังมือ นอกจากแสดงผลข้อมูลด้านสุขภาพแล้ว ยังสามารถเตือนให้กินยา หรือเป็นสื่อกลางให้คุณตาคุณยายสามารถสื่อสารกับหลานที่อยู่ไกลได้
“เมื่อแปะจอแสดงผลนี้ลงบนผิวหนัง คุณจะรู้สึกเหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไปเลย เวลาที่มีข้อความเข้ามาบนมือของคุณ คุณจะรู้สึกใกล้ชิดทางอารมณ์กับผู้ส่งมากกว่าเวลาใช้อุปกรณ์อื่น” โซเมยะกล่าว “ผมคิดว่าคุณปู่ที่ได้รับข้อความ “ผมรักปู่” จากหลานของเขา จะต้องรู้สึกอบอุ่นใจแน่ๆ”
โซเมยะคาดว่า เทคโนโลยีนี้อาจเป็นประโยชน์มากทีเดียวกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และนวัตกรรมนี้อาจเข้ามาแทนที่การพบแพทย์แบบซึ่งหน้า เนื่องจากสามารถตรวจเช็คความผิดปกติของสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องและไม่เป็นการล่วงล้ำใดๆ
อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถแปะค้างไว้บนผิวหนังได้นาน 1 สัปดาห์โดยไม่เกิดอาการผิวหนังอักเสบ และน้ำหนักเบาพอที่จะทำให้ผู้สวมใส่ลืมไปเลยว่ามีสิ่งนี้แปะอยู่
เมื่อใช้ร่วมกับแอพลิเคชั่นทางการแพทย์ โซเมยะหวังว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะสามารถนำไปใช้กับนักวิ่ง โดยแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจและการตรวจสอบเส้นทางวิ่ง
นอกจากนี้ เขายังมองเห็นภาพว่าอาจจะพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ให้บรรดาผู้ใช้แรงงานสามารถใช้หารือวิธีปฏิบัติงานได้ระหว่างทำงาน
โซเมยะผลิตอุปกรณ์ชิ้นนี้โดยร่วมกับบริษัทได นิปปอน พรินท์ติ้ง (Dai Nippon Printing) ซึ่งคาดว่าจะสามารถวางขายอุปกรณ์นี้ในตลาดได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า
Credit
Web: Kaijeaw
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น